พันธมิตรและโครงการต่าง ๆ

จีน: โครงการเสริมสร้างความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับหมู่บ้านในตำบลโต้วเตี้ยน เขตฝางซาน ปักกิ่ง

ระยะเวลาดำเนินโครงการ:

มีนาคม 2567-กุมภาพันธ์ 2568

พันธมิตรโครงการ:

Social Workers Across Borders

ความเป็นมา

ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2566 พายุไต้ฝุ่นและมวลอากาศเย็นที่เคลื่อนตัวลงใต้ ทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือของจีนเผชิญกับอุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ในเขตฟางซานและเหมินโถวโกวของกรุงปักกิ่งแค่เพียง 2 เขต มีประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 1.3 ล้านคน นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศสุดขั้วอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชุมชนเกษตรกรทางตอนเหนือของจีนยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรับมือกับภัยพิบัติ และจำเป็นต้องพัฒนาทักษะในการปรับตัวและความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

เกษตรกรในชนบทหลายพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียยังคงมีพฤติกรรมเผาตอซังพืช ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ลดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผลผลิตลดลง และยังเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยตรง แม้ว่ารัฐบาลจีนจะออกนโยบายห้ามเผาตอซังพืชมาตั้งแต่ปี 2542 แต่ในบางพื้นที่ เนื่องจากขาดเทคโนโลยีทางเลือกในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรยังมีเกษตรกรที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว

ชาวบ้านและหน่วยงานท้องถิ่นในตำบลโต้วเตี้ยน เขตฝางซาน กรุงปักกิ่ง มีความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำเศษตอซังและของเสียอินทรีย์จากภาคเกษตรกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โครงการนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่สภาพอากาศสุดขั้วทวีความรุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานระดับรากหญ้าและชุมชนชนบท ผ่านชุดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เป้าหมาย

ลักษณะสำคัญของโครงการ

  • โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติและความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูปขยะอินทรีย์ทางการเกษตรในพื้นที่เพื่อการลดการปล่อยคาร์บอน
  • ออกแบบแผนปฏิบัติการตอบสนองภัยพิบัติตามสภาพจริงในพื้นที่โดยการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินในครัวเรือน การประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติในหมู่บ้าน การฝึกอบรมในชุมชน การสร้างทีมอาสาสมัครเยาวชนเพื่อการตอบสนองกรณีฉุกเฉิน การกำหนดกระบวนการตอบสนองภัยพิบัติและการฝึกซ้อม เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับอุทกภัยในพื้นที่โครงการ
  • สร้างระบบการรีไซเคิลตอซังข้าวและขยะอินทรีย์ทางการเกษตร ฝึกอบรมเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนและองค์กรรากหญ้า สร้างระบบการจัดการการรีไซเคิลตอซังและขยะจากพื้นที่ทำการเกษตร ให้ความรู้ด้านเทคนิคและการพัฒนาศักยภาพในการใช้ระบบรีไซเคิลให้กับผู้รับผลประโยชน์

ผลลัพธ์โครงการ

  • โครงการได้ทำงานร่วมกับกลไกที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มความยั่งยืนของผลกระทบเชิงบวก โดยองค์กรพันธมิตร  Social Workers Across Borders ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการชุมชนเขตฝางซานและตำบลโต้วเตี้ยน จัดฝึกอบรมสร้างความสามารถในการรับมืออุทกภัยและเสริมสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วม เช่น เจ้าหน้าที่ป้องกันอุทกภัย ผู้นำชุมชน และอาสาสมัคร
  • โครงการส่งเสริมกลไกฉุกเฉินให้ครอบคลุมทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ส่งเสริมการช่วยเหลือตัวเองของประชาชนและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน สร้างชุมชนที่มีความพร้อมในการรับมือความเปลี่ยนแปลง มีการฝึกอบรมและฝึกซ้อมในกระบวนการช่วยเหลือภัยพิบัติในท้องถิ่น ตั้งแต่การให้ความรู้เกี่ยวกับชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินในครัวเรือน การออกแบบกลไกการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน รวมถึงการทำความสะอาดและการป้องกันโรคหลังภัยพิบัติ
  • โครงการได้เปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรด้วยการแปรรูปขยะอินทรีย์ทางการเกษตรในพื้นที่และการพัฒนาชุมชนเกษตรกรรม ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและลดคาร์บอน โครงการได้มีการเตรียมวัสดุเพาะเห็ดด้วยการทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่ป่าชุมชนโดยหลังจากเพาะเห็ดแล้ว วัสดุที่ใช้ในการเพาะจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือธาตุอาหารให้ดินต่อไป
Scroll to Top