พันธมิตรและโครงการต่าง ๆ

อินโดนีเซีย:โครงการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการส่งเสริมการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าด้วยการใช้เชื้อราเอคโตไมคอร์ไรซาในป่าพรุเขตร้อน

ระยะเวลาดำเนินโครงการ:

มิถุนายน 2561-มิถุนายน 2566

พันธมิตรโครงการ:

The Mushroom Initiative Limited

ความเป็นมา

ป่าพรุเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนและมีบทบาทที่สำคัญในวัฏจักรคาร์บอนของโลก ระบบนิเวศป่าพรุเขตร้อนประกอบด้วยพื้นที่ที่อุดมไปด้วยอินทรียวัตถุสะสมจากการสลายตัวของพืชพรรณภายใต้สภาวะดินอิ่มตัวด้วยน้ำหรือน้ำท่วมบ่อยครั้ง อินทรียวัตถุเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนฟองน้ำคาร์บอนขนาดใหญ่ที่ดูดซับน้ำและกักเก็บคาร์บอนปริมาณมหาศาล เมื่อเปรียบเทียบกับป่าดิบชื้นที่อยู่บนดินแร่ใกล้เคียง ป่าพรุสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าดิบชื้นในพื้นที่ที่มีโครงสร้างใกล้เคียงถึง 10-20 เท่า ขึ้นอยู่กับอายุของป่าและความลึกของดินพรุ อย่างไรก็ตาม ป่าพรุทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย ไฟป่า การขยายตัวของการเกษตร และการทำสวนปาล์มน้ำมันและยางพารา กิจกรรมมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้ป่าพรุเขตร้อนเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้ปริมาณการกับเก็บคาร์บอนบนผิวดินลดลงเท่านนั้น เพราะร้อยละ 90 ของคาร์บอนในป่าพรุถูกเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งหากถูกทำลายไป แม้เราจะไม่สามารถสัมผัสได้ แต่มีผลกระทบต่อธรรมชาติและมนุษย์อย่างมาก

อินโดนีเซีย มีพื้นที่ป่าพรุเขตร้อนคิดเป็นร้อยละ 45 ของพื้นที่ป่าพรุทั่วโลก (Applegate et al., 2021) กระจายตัวอยู่ในสุมาตรา (8.3 ล้านเฮกตาร์) บอร์เนียว (6.8 ล้านเฮกตาร์) และปาปัว (4.6 ล้านเฮกตาร์) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การตัดไม้และไฟป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ทำเกษตรกรรมทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมหาศาลและสร้างความสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ รัฐบาลอินโดนีเซียได้กำหนดแผนปฏิบัติการระดับชาติ เพื่อเร่งฟื้นฟูป่าพรุที่เสื่อมโทรม แต่การฟื้นฟูระบบนิเวศนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีการคัดเลือกพันธุ์ไม้และการเพาะต้นกล้าคุณภาพสูงเพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูเป็นไปอย่างยั่งยืน

ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น โครงการนี้จึงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการฟื้นฟูป่าพรุในอินโดนีเซีย มีการใช้เชื้อราไมคอร์ไรซาเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้พื้นเมือง ซึ่งเป็นแนวทางในการฟื้นฟูป่าพรุเขตร้อนที่สามารถเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่ป่าพรุที่กำลังเสื่อมโทรมทั่วโลก

ลักษณะสำคัญของโครงการ

  • โครงการมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ การวางแปลงสาธิตการปลูกป่าพรุโดยใช้เชื้อราไมคอร์ไรซา ส่งเสริมเทคโนโลยีการฟื้นฟูเชิงนิเวศตามแนวทางให้ป่าและเชื้อราอยู่ร่วมกันในพื้นที่ป่าพรุที่เสื่อมโทรม และศึกษาและวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเพื่อยืนยันบทบาทของเชื้อรามัยคอไรซาในการปลูกและฟื้นฟูป่า
  • โครงการคัดเลือกและอนุรักษ์เชื้อราไมคอร์ไรซาที่เหมาะสมกับป่าพรุอินโดนีเซีย พร้อมกับวิเคราะห์ดินในห้องปฏิบัติการทั้งก่อน ระหว่าง และหลังโครงการ เพื่อยืนยันว่า เชื้อราไมคอร์ไรซาช่วยเพิ่มการดูดซึมสารอาหารของต้นไม้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นฟูป่าพรุ
  • โครงการยึดแนวคิด “4 ปลอด” ได้แก่ ปลอดพลาสติก ปลอดเผา ปลอดปุ๋ยเคมี ปลอดพืชต่างถิ่นหรือพืชรุกราน โดยใช้วัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เช่น หญ้าพื้นเมืองพันธุ์ Purun แทนการใช้วัสดุสังเคราะห์
  • ติดตามการเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนในพื้นที่ปลูกป่าทุกปี เพื่อประเมินผลกระทบของโครงการต่อการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่
  • จัดอบรมเสริมศักยภาพเป็นประจำทุกปีให้แก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ คนงานโรงเพาะกล้า และเกษตรกรในพื้นที่  เพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่องและสามารถขยายผลได้อย่างยั่งยืน

ผลลัพธ์โครงการ

  • โครงการในพื้นที่สุมาตราตอนใต้และบอร์เนียวกลางสามารถปลูกต้นไม้พื้นเมืองได้ถึง 26 สายพันธุ์ และมีอัตราการรอดมากกว่าร้อยละ 70 สามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่าพรุที่เสื่อมโทรมได้ 115.6 เฮกตาร์ ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 100 เฮกตาร์
  • ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับโครงการอย่างแข็งขัน โดยตระหนักถึงประโยชน์ทางนิเวศ สังคม และเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการฟื้นฟูป่าพรุ ซึ่งการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้โครงการเกิดความยั่งยืน และช่วยให้เกิดการบริหารจัดการป่าพรุในระยะยาว
Scroll to Top