พันธมิตรและโครงการต่าง ๆ

เวียดนาม: โครงการการแปรรูปขยะอินทรีย์ให้เป็นทรัพยากร

ระยะเวลาดำเนินโครงการ:

มิถุนายน 2564-ธันวาคม 2568

พันธมิตรโครงการ:

สหภาพเกษตรกรเวียดนาม (Vietnam Farmers' Union)

ความเป็นมา

ของเสียจากภาคเกษตรและขยะอาหารเป็นแหล่งสำคัญของผงฝุ่นเขม่าดำ (จากการเผาไหม้ทางการเกษตร) และการปล่อยก๊าซมีเทน อย่างไรก็ตาม หากได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ของเสียเหล่านี้สามารถถูกเปลี่ยนเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่า เช่น ปุ๋ยหมักหรือโปรตีนจากแมลง โครงการได้สนับสนุนแนวปฏิบัติด้านการจัดการของเสียในเวียดนาม และส่งเสริมเทคโนโลยีในการจัดการของเสียจากภาคเกษตรและอาหาร โดยให้การฝึกอบรมทางเทคนิคแก่ชุมชนชนบท ให้ความรู้เกษตรกรรายย่อยในการใช้หนอนแมลงวันลายและไส้เดือนดินไทเกอร์ (ไส้เดือนดินสีแดง) ในการเปลี่ยนมูลสัตว์และเศษอาหารให้เป็นโปรตีนสัตว์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการหมักเพื่อเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นอาหารสัตว์ อีกทั้งยังใช้เทคนิคการทำปุ๋ยหมักและการรองพื้นคอกไก่แบบลึกเพื่อเปลี่ยนสารอินทรีย์ให้เป็นสารปรับปรุงดิน

ลักษณะสำคัญของโครงการ

  • โครงการช่วยแก้ไขปัญหาการเน่าเสียของของเสียอินทรีย์และลดการปล่อยก๊าซมีเทน
  • โครงการช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยที่จังหวัดซาลาย (Gia Lai) วัวที่ได้รับอาหารสัตว์แบบหมักมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าวัวที่ได้รับอาหารสัตว์เชิงพาณิชย์ ส่วนในจังหวัดลัมดง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดการใช้อาหารสัตว์เชิงพาณิชย์ลงร้อยละ 30 และประหยัดเงินได้ 5 ล้านดองเวียดนามภายในหนึ่งเดือน

ผลลัพธ์โครงการ

  • มีการส่งเสริมแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อปรับปรุงสุขภาพดินและการจัดการผลผลิต โดยโครงการได้จัดวางแปลงทดลอง 1,428 แปลง เพื่อทดสอบเทคโนโลยีที่สำคัญ 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 6,949 การทดลอง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขยายแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน ช่วยเกษตรกรปรับปรุงสุขภาพดิน จัดการเศษวัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร
  • มีการลดต้นทุนปุ๋ยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชผลด้วยเทคนิคการจัดการซังข้าว โดยที่จังหวัดทัญฮว้า (Thanh Hóa)  โรงเรียนเกษตรกรภาคสนามได้ฝึกอบรมการใช้จุลินทรีย์เพื่อเร่งการย่อยสลายฟางข้าวให้แก่เกษตรกรแกนนำจำนวน 330 คน ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้กระบวนการย่อยสลายเร็วขึ้น ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายปุ๋ยลงร้อยละ 25-30 และยังได้ขยายผลการทดลองไปยังอีก 165 แปลง นับว่าเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการผลผลิตที่คุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • โครงการได้ขยายการใช้เทคโนโลยีเกษตรกรรมยั่งยืนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และการเรียนรู้ร่วมกัน โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ มีการจัดการเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวน 1,674 คน รวมถึงเกษตรกรแกนนำและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งช่วยเร่งการขยายแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนผ่านโครงการสาธิตและกระตุ้นให้เกษตรกรนำไปใช้และเผยแพร่ในชุมชนของตนเอง
  • เกิดการพัฒนาเทคนิคการเกษตรที่ช่วยเพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยในเดือนมีนาคม 2567 เกษตรกร 19,323 รายได้นำเทคนิคการจัดการเศษวัสดุอย่างยั่งยืนไปใช้ นอกจากนี้ เกษตรกร 8,768 รายเริ่มใช้หนอนแมลงวันลายและไส้เดือนดินสีแดงเพื่อเปลี่ยนมูลสัตว์ให้เป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยอินทรีย์ เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกร เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียอินทรีย์
Scroll to Top