พันธมิตรและโครงการต่าง ๆ

ไทยและเวียดนาม: โครงการปลูกป่าด้วยไมคอร์ไรซา

ระยะเวลาดำเนินโครงการ:

กรกฎาคม 2560-กรกฎาคม 2563 (ประเทศไทย), มีนาคม 2562- ธันวาคม 2565 (เวียดนาม)

พันธมิตรโครงการ:

The Mushroom Initiative Limited

ความเป็นมา

ประเทศไทยตั้งอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีพื้นที่ป่ามากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปี 2559 ได้ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ป่าของไทยเหลือเพียงร้อยละ 32 ของพื้นที่ทั้งหมด ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรของไทยบ่งชี้ว่า พื้นที่ประมาณ 3.2 ล้านเฮกตาร์ถูกใช้เพื่อเพาะปลูกยางพารา และยังมีพื้นที่กว่า 1 ล้านเฮกตาร์ที่ถูกใช้เพื่อเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้ สวนปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมักกระจุกตัวอยู่ในภาคใต้ของไทย แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีการขยายตัวไปยังภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ยังประมาณการว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าพรุเขตร้อนอยู่ที่ 64,000 – 75,000 เฮกตาร์ โดยมีการระบายน้ำออกจากพื้นที่เหล่านี้เพื่อนำไปใช้ทำการเกษตรอยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่น สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และนาข้าว โดยสรุปแล้ว ประมาณร้อยละ 41.5 ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทยถูกใช้เพื่อทำการเกษตร

ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลให้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินโครงการส่งเสริมต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็วและปลูกฟื้นฟูป่าอย่างทันท่วงที โดยโครงการนี้ดำเนินแนวทางฝึกอบรมชุมชนให้ปลูกเชื้อราไมคอร์ไรซาร่วมกับพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเพื่อช่วยฟื้นฟูป่าในพื้นที่ และยังช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดต่าง ๆ เช่น ความเชื่อที่ว่าพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเจริญเติบโตช้า รวมถึงสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าและเกษตรกรรมในภาคใต้ของไทย ให้ดำเนินการฟื้นฟูป่าโดยใช้แนวทางที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนและเกษตรกรท้องถิ่น

เวียดนาม ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็กำลังเผชิญกับปัญหาการเสื่อมโทรมของป่าและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเช่นกัน จังหวัดลัมดง (Lam Dong) ตั้งอยู่ในที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม และเป็นที่รู้จักในฐานะพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดลัมดง คือ ดาลัต (Da Lat) ซึ่งมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว รวมถึงการทำปศุสัตว์ ธุรกิจพืชสวน และพื้นที่ทำเกษตรกรรม กิจกรรมเหล่านี้ส่งผลให้พื้นที่ป่าถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว โครงการนี้จึงสนับสนุนการปลูกฟื้นฟูป่าที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลางและอิงหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยทำงานร่วมกับนักปักษีวิทยาและนักวิทยาเชื้อรา เพื่อสร้างระบบป่าที่สมบูรณ์และสอดคล้องกับรายได้ของชุมชนท้องถิ่น

เทคนิคพื้นฐานในการฟื้นฟูป่าในทั้งไทยและเวียดนาม คือ ความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกันระหว่างไมคอร์ไรซาและพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ไมคอร์ไรซาเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง (อินทรียวัตถุที่อาศัยอยู่ในดินและพืช) ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสารอาหารกับต้นไม้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศป่าไม้ ซึ่งการศึกษาระบบนิเวศนิเวศวิทยาป่าไม้พบว่า ไมคอร์ไรซาจะเป็นประโยชน์ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงแดดปริมาณมากและธาตุอาหารในดินต่ำ และต้นไม้ที่มีการอยู่ร่วมแบบอิงอาศัยกับเชื้อราจะเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าต้นไม้ที่ไม่มีความสัมพันธ์ในรูปแบบดังกล่าว

ลักษณะสำคัญของโครงการ

  • โครงการมุ่งเน้นระบุหาสายพันธุ์ไมคอร์ไรซาที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ท้องถิ่นและส่งเสริมการปลูกไมคอร์ไรซาเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นไม้ และบรรลุเป้าหมายในการฟื้นฟูป่า
  • วางแปลงทดลอง 10 แห่งในภาคใต้ของประเทศไทย พร้อมทั้งฝึกอบรมเกษตรกรและคนงานเพาะชำต้นกล้าให้มีสามารถใช้เชื้อราไมคอร์ไรซาช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วเพื่อฟื้นฟูป่าไม้และพื้นที่เสื่อมโทรม
  • วางแปลงทดลอง 2 แห่งในเวียดนามเพื่อสาธิตการใช้เชื้อราไมคอร์ไรซาในการฟื้นฟูป่าสนดั้งเดิม
    ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชน เช่น การดูนกและเก็บเห็ด ฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าในระยะยาว
  • ไม่ใช้พลาสติกและสารเคมี รวมถึงงดการเผาในพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ
  • โครงการยังให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ รวมถึง ชุมชนท้องถิ่น สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมป่าไม้ประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐของเวียดนาม เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างมั่นคงในรูปแบบที่พันธมิตร และพัฒนาโมเดลการฟื้นฟูป่าด้วยสายพันธุ์ท้องถิ่นและเชื้อราไมคอร์ไรซาอย่างยั่งยืน

ผลลัพธ์โครงการ

  • ประสบความสำเร็จในการใช้เชื้อราไมคอร์ไรซากับพันธุ์ไม้ท้องถิ่นพัฒนาโมเดลการปลูกฟื้นฟูป่าที่เหมาะสมกับลักษณะของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอัตราความสำเร็จสูงถึงร้อยละ 80 ปริมาณกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น เช่น ที่จังหวัดพะเยา ประเทศไทย สามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้เพิ่มขึ้น 8.65 ตันคาร์บอนต่อเฮกตาร์ (tC/ha) ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจของไทย (T-VER) ประมาณ 1.5 เท่า
  • โครงการในประเทศไทยได้ปลูกต้นกล้าใหม่จำนวน 32,491 ต้นบนพื้นที่ที่เคยมีการตัดไม้ทำลายป่า คิดเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นมากกว่า 50 ชนิด และได้ฟื้นฟูพื้นที่ป่ารวมประมาณ 60 เฮกตาร์
  • โครงการในเขตที่ราบสูงของเวียดนาม ค้นพบเห็ดในป่าสนจำนวนมาก เช่น กลุ่มเห็ดตับเต่า ซึ่งมีจำนวนถึง 87 ชนิดต่าง ๆ กัน โดยการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์สามารถยืนยันได้ว่า 26 ชนิดเป็นเชื้อราไมคอร์ไรซาชนิดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
  • โครงการทั้งในประเทศไทยและเวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เช่น ชุมชนท้องถิ่น คนงานเกษตรกร ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระดับท้องถิ่น โดยมีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการระบุและเพาะเชื้อราไมคอร์ไรซา รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้สามารถขยายผลของโครงการได้อย่างยั่งยืน
Scroll to Top