พันธมิตรและโครงการต่าง ๆ

ไทย: โครงการหยุดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ระยะเวลาดำเนินโครงการ:

กุมภาพันธ์ 2561 – กุมภาพันธ์ 2564

พันธมิตรโครงการ:

Consumers Acting for People and the Environment Limited

ความเป็นมา

ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา การเผาเพื่อจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรและวัชพืชก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวเป็นวิธีการที่พบเห็นได้ทั่วไป การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มลพิษทางดิน มลพิษในน้ำใต้ดิน และยังอาจก่อให้เกิดไฟป่าในบางพื้นที่อีกด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำกสิกรรมเป็นหลัก มีการปลูกข้าว อ้อย และข้าวโพดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ไฟป่าเป็นปัจจัยสำคัญทีเป็นอุปสรรคต่อการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเผาตอซังข้าว ข้าวโพด และการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการเผาชานอ้อยในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล เป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศ แม้ว่าภาครัฐจะออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ เช่น การห้ามเผา แต่ปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การสร้างโมเดลความร่วมมือระหว่างเกษตรกร สภาเกษตรกรระดับจังหวัด มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญการเกษตร หน่วยงานภาครัฐ อุตสาหกรรมเกษตร และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกที่หลากหลายและได้รับการสนับสนุนเชิงวิชาการสำหรับการทดแทนการเผาในภาคเกษตรกรรม

ลักษณะสำคัญของโครงการ

  • จัดตั้งระบบรับรอง “การทำเกษตรแบบไม่เผา” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ปฏิบัติตามแนวทางนี้ได้รับการยอมรับและสนับสนุน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาใช้แนวทางดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพัฒนาเครือข่ายการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการตลาดให้กับสหกรณ์เกษตรที่เข้าร่วมโครงการ
  • สร้างเครือข่ายเกษตรกรที่ไม่ใช้การเผา เพื่อส่งเสริมการสนับสนุน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ
  • ผลักดันให้ผู้ผลิตและหน่วยงานภาครัฐมีบทบาทและความรับผิดชอบในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลลัพธ์โครงการ

  • โครงการได้ส่งเสริมให้เกษตรกร 19,303 รายจาก 30 จังหวัดทั่วประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็น “เกษตรกรที่เพาะปลูกโดยไม่เผา”
  • มีการเจรจาและผลักดันให้ภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ออกนโยบายและมาตรการควบคุมการเผาในอุตสาหกรรมอ้อย เพื่อให้เกิดกฎหมายควบคุมการเผาในอุตสาหกรรมอ้อย ในเดือนมิถุนายน 2562  รัฐบาลไทยประกาศให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรับซื้ออ้อยสด หรืออ้อยที่ “ไม่ผ่านการเผา” ก่อนและหลังเก็บเกี่ยว โดยให้ได้ปริมาณร้อยละ 95 ภายในสามปี ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการยุติการเผาไร่อ้อย
  • ราคาตลาดของข้าวและอ้อยที่มาจากการทำเกษตรกรรมแบบไม่เผาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6-2 และร้อยละ 12 ตามลำดับ
  • ผลผลิตข้าวในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1% และในช่วงฤดูฝนของปี 2562 2563 และ 2564 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 17.7 และ 30 ตามลำดับ ส่วนผลผลิตในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 33.3 และ 27.3 ตามลำดับ
  • พื้นที่เพาะปลูกที่เข้าร่วมโครงการหยุดเผา มีอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง โดยลดลงร้อยละ 20-50 ในพื้นที่ปลูกข้าว ลดลงร้อยละ 20-25 ในพื้นที่ปลูกอ้อย และลดลงร้อยละ 25-30 ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด
Scroll to Top