ความเป็นมา
การเผาชีวมวล หมายถึง การเผาตอซังพืชหลังการเก็บเกี่ยว การเผาหญ้าในที่โล่ง และการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ร้อยละ 32 ของพื้นที่ในประเทศถูกใช้เพื่อทำการเกษตร (FAO, 2018) โดยภาคการเกษตรครอบคลุมทั้ง ไร่ขนาดใหญ่ ฟาร์มของรัฐหรือเอกชน และเกษตรกรรายย่อย อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการเผาตอซังพืชหรือการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกล้วนเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของอินโดนีเซีย การเผาชีวมวลก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ ดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ เสี่ยงต่อไฟป่า และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็น ประเทศที่มีพื้นที่ป่าพรุเขตร้อนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งป่าพรุถือเป็น “แหล่งกักเก็บคาร์บอน” ที่สำคัญ โดยช่วยดูดซับและเก็บกักคาร์บอนใต้ดิน แต่เมื่อมีการเผาป่าพรุ ดินจะถูกทำลาย น้ำในดินแห้งลง และคาร์บอนที่กักเก็บไว้จะถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น มูลนิธิเอิร์ธแคร์จึงได้เริ่มสนับสนุนโครงการร่วมกับองค์กรท้องถิ่นในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2563 โดยมีการดำเนินงานหลากหลายรูปแบบภายในหลายชุมชน ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์และผลกระทบที่เป็นรูปธรรม