ความเป็นมา
ในการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 26 (COP26) เวียดนามให้คำมั่นว่า จะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยแผนปฏิบัติการการปรับปรุงแนวทางการผลิตข้าวที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศจะช่วยให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ผลลัพธ์จากการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า เวียดนามจำเป็นต้องส่งเสริมแนวทางการเพาะปลูกที่ยั่งยืนต่อไป พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมข้าว และพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายความว่า ขณะที่เวียดนามพยายามยกระดับคุณภาพข้าวในประเทศ ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ก็สามารถมีส่วนร่วมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกไปพร้อมกัน
การปลูกข้าวระบบประณีต ( System of Rice Intensification-SRI) เป็นวิธีการเพาะปลูกที่มุ่งเน้นการทำเกษตรเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน และได้รับการส่งเสริมในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ภายในปี 2556 มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ใน 23 จังหวัดของเวียดนามเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวอย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น โครงการจึงสนับสนุนให้เวียดนามขยายการใช้การปลูกข้าวระบบประณีตต่อไป โดยมุ่งเน้นที่การฝึกอบรมเทคนิคการเพาะปลูกแก่เกษตรกร เพิ่มศักยภาพของเกษตรกรและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมข้าว และผลักดันให้ข้าวที่ปลูกด้วยระบบประณีตสามารถเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น
การปลูกข้าวระบบประณีตช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดต้นทุนในด้านต่าง ๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และยังประหยัดน้ำในการเพาะปลูก โดยเทคนิคต่าง ๆ ได้แก่ การปลูกต้นกล้าอ่อนและเว้นระยะห่างระหว่างต้น การจัดการน้ำแบบให้น้ำเป็นระยะ (Intermittent Irrigation) ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าว การใช้ปุ๋ยหมัก วัชพืช วัสดุชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ให้มากที่สุด เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี และเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน การกำจัดวัชพืชตั้งแต่ระยะแรกเพื่อสร้างสภาวะที่มีออกซิเจนในดิน การลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N₂O) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีอานุภาพรุนแรง
นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการใช้ที่ดินในเขตเพาะปลูกข้าว เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และเพิ่มศักยภาพของระบบการเกษตร โดยเฉพาะความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนอินทรีย์ของดิน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร การบูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบใหม่จะสามารถรับประกันความมั่นคงทางอาหาร บรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวอย่างยั่งยืน