ความเป็นมา
ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2566 พายุไต้ฝุ่นและมวลอากาศเย็นที่เคลื่อนตัวลงใต้ ทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือของจีนเผชิญกับอุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ในเขตฟางซานและเหมินโถวโกวของกรุงปักกิ่งแค่เพียง 2 เขต มีประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 1.3 ล้านคน นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศสุดขั้วอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชุมชนเกษตรกรทางตอนเหนือของจีนยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรับมือกับภัยพิบัติ และจำเป็นต้องพัฒนาทักษะในการปรับตัวและความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน
เกษตรกรในชนบทหลายพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียยังคงมีพฤติกรรมเผาตอซังพืช ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ลดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผลผลิตลดลง และยังเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยตรง แม้ว่ารัฐบาลจีนจะออกนโยบายห้ามเผาตอซังพืชมาตั้งแต่ปี 2542 แต่ในบางพื้นที่ เนื่องจากขาดเทคโนโลยีทางเลือกในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรยังมีเกษตรกรที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว
ชาวบ้านและหน่วยงานท้องถิ่นในตำบลโต้วเตี้ยน เขตฝางซาน กรุงปักกิ่ง มีความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำเศษตอซังและของเสียอินทรีย์จากภาคเกษตรกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงการนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่สภาพอากาศสุดขั้วทวีความรุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานระดับรากหญ้าและชุมชนชนบท ผ่านชุดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เป้าหมาย